14/08/2016

ความสำคัญและที่มาของโครงการ

               โรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease; CKD) เป็นปัญหาสาธารณ-สุขที่สำคัญทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เพราะมีความชุกที่สูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคไตเรื้อรังแบ่งตามความรุนแรงของโรคเป็น 5 ระยะ ซึ่งจากการศึกษาระบาดวิทยาโรคไตเรื้อรังในชุมชนของประเทศไทย (Thai SEEK Study)พบความชุกของโรคจากระยะที่ 1-5 เท่ากับร้อยละ 3.3, 5.6, 7.5, 0.8 และ 0.3 ตามลำดับ โดยความชุกของโรคไตเรื้อรังจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น มีประชากรเพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้นที่ทราบว่าตนกำลังเป็นโรคไตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคไตเรื้อรังระยะ ที่ 1-3 ซึ่งเป็นระยะที่สามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ดีนั้น มีผู้ที่รู้ตัวว่าเริ่มมีโรคไตเพียงร้อยละ 0.79, 2.06 และ 5.63 ตามลำดับซึ่งการที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบเพราะในระยะแรกของโรคผู้ป่วยส่วน ใหญ่ไม่มีอาการผิดปรกติ และเมื่อมีอาการโรคมักดำเนินไปมากแล้ว นอกจากนี้โรคไตเรื้อรังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มอัตราการเสียชีวิต เมื่อโรคดำเนินไปสู่ระยะที่ 5 และเกิดภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (end stage renal disease; ESRD) จะทำให้การพยากรณ์ของโรคแย่ลง มีอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ตลอดจนค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อคนต่อปี โดยในปี 2555 พบความชุกของผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตในประเทศไทยเท่ากับ 905.9 ต่อล้านประชากร และใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าในปี 2560 อาจจะต้องใช้งบประมาณกว่า 17,000 ล้านบาท ดังนั้นหากมีระบบคัดกรองผู้ที่เสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรังและค้นพบผู้ป่วยในระยะ แรกของโรค และให้ความรู้เรื่องอาหารและการปฏิบัติตัว รวมถึงให้ยาที่เหมาะสม จะสามารถป้องกันและชะลอการเสื่อมของหน้าที่ไตได้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าการสูญเสียทรัพยากรไป ใช้ในการรักษาระยะท้ายของโรค

               จากข้อมูลของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยใน ปี พ.ศ. 2555 พบว่าโรคไตเรื้อรังมีสาเหตุจากโรคเบาหวานมากที่สุด (ร้อยละ 37.5) รองลงมาคือ โรคความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 25.6), โรคที่มีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากนิ่วทางเดินปัสสาวะ (ร้อยละ 4.3) และโรค chronic glomerulonephritis (ร้อยละ 2.4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความชุกของโรคไตเรื้อรังและนิ่วไตสูงมากกว่าภูมิภาค อื่นๆ โดยประมาณร้อยละยี่สิบห้าของโรคไตวายระยะสุดท้ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ ทราบสาเหตุที่ชัดเจน การศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนในชนบทที่ประกอบอาชีพหลัก เกษตรกรรมมีภาวะขาดโพแทสเซียม และมีตะกอนลักษณะคล้ายก้อนนิ่วเล็กๆ (sludge)ในการตรวจอัลตราซาวนด์ไต และพบผลึกยูริกและปัสสาวะที่เป็นกรด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มโรคอีสานรวมมิตรดังที่ ศ.นพ.อมร เปรมกมล ได้บัญญัติไว้ ความผิดปกติดังกล่าวในระยะเวลานานอาจสัมพันธ์กับการเกิดนิ่วขนาดโตขึ้น การติดเชื้อในไตและไตเสื่อมเรื้อรังในภายหลัง นอกจากนี้อาจมีปัจจัยอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไตในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ อาทิเช่น ภาวะขาดสารน้ำเนื่องจากการทำงานในที่อุณหภูมิสูง การรับประทานยาหรือสารที่เป็นพิษต่อไต การบริโภคผงชูรสปริมาณมากซึ่งพบการรายงานโรคไตในสัตว์ทดลอง รวมถึงการสัมผัสยาฆ่าแมลงที่ใช้ในการเกษตรกรรม ดังนั้นการศึกษาเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไตเรื้อรังในภูมิภาคนี้ ซึ่งอาจมีบริบทที่ต่างจากภูมิภาคอื่นๆจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และจะนำไปสู่วิธีการป้องกันและรักษาโรคไตได้ดียิ่งขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น

               แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทย มีนโยบาย แนวทางการดำเนินการ และตัวชี้วัดกระบวนการและผลลัพธ์ที่ชัดเจนสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคไต เรื้อรัง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการรักษาสากล แต่ในทางปฏิบัติ การดูแลผู้ป่วยยังไม่เข้มงวด การตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็นยังตรวจไม่สม่ำเสมอ ตลอดจนยังใช้ข้อมูลจากการตรวจติดตามมาใช้ปรับแผนการรักษาไม่เต็มที่ การใช้ยาตามแนวทางเวชปฏิบัติ (guideline)เพื่อชะลอการเกิดโรคไต รวมทั้งการดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยยังไม่ครอบ คลุมผู้ป่วยส่วนใหญ่ และการดำเนินการมีความแตกต่างกันระหว่างหน่วยบริการแต่ละแห่ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นและเร่งด่วนในการพัฒนาระบบสารสนเทศให้เป็นฐานข้อมูล ในการรายงานการกระจายของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เพื่อบอกลักษณะทางวิทยาการระบาด กำหนดกลุ่มเป้าหมายและรูปแบบการให้บริการ การติดตาม และประเมินผลโดยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยบริการแบบไร้ รอยต่อ ใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และมุ่งให้เกิดระบบที่เอื้อให้การติดตามผลในระยะยาวเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ รวมถึงมีการพัฒนาเครือข่ายของบุคลากรสาธารณสุขเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโรคไต เรื้อรังอย่างเข้มงวด เน้นการป้องกันและรักษาปัจจัยเสี่ยงของโรคไต ตลอดจนชะลอการดำเนินของโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะเริ่มต้น นอกจากนี้ ปริมาณผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีจำนวนมาก แต่ทรัพยากรในการดำเนินการเพื่อชะลอไตเสื่อมมีจำกัด โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคาดว่าระบบฐาน ข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทีมแพทย์ที่ดูแลและระบบให้คำปรึกษาที่ดี (clinical information system) จะสามารถทำให้ประชาชนได้รับการดูแลโรคไตเรื้อรังได้อย่างทั่วถึง ภายใต้ทรัพยากรอันจำกัดอันเป็นบริบทที่แท้จริงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้

               มหาวิทยาลัย ขอนแก่นได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นมา ซึ่งผลการดำเนินโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ สามารถแก้ไขปัญหาทางสาธารณสุขได้อย่างดี มีประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคจำนวนมากได้รับการขึ้นทะเบียน และมี ระบบการตรวจรักษาที่ก้าวหน้า และมีความร่วมมือเชิงนโยบายและการปฏิบัติในระดับกระทรวงและโรงพยาบาลใน พื้นที่ ทางคณะแพทยศาสตร์และสำนักงานประสานความร่วมมือพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เล็งเห็นความสำคัญในการป้องกันและลดโรคไต และมุ่งมั่นที่จะขยายบทบาทเชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยในการทำงานแก้ไขปัญหาใน พื้นที่ชนบทที่ประชากรอาจขาดความรู้และโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ อย่างเพียงพอ จึงได้ขอเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อดำเนินโครงการป้องกันและ ชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะผู้ทำงานจึงเห็นสมควรจัดตั้งโครงการนี้ขึ้น เพื่อร่วมกันใช้องค์ความรู้แก้ไขปัญหาและป้องกันโรคไตในชุมชน, จัดทำระบบและขึ้นทะเบียนกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงโรคไตโดยใช้โปรแกรมและ เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการ, ศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคไตแก่ สาธารณะ,ถ่ายทอดและฝึกอบรมบุคลากรด้านสาธารณสุข และร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ ตลอดจนองค์กร ภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไต ซึ่งจะมีการประเมินผลลัพธ์ของโครงการจากการบรรลุดัชนีชี้วัดที่กำหนดไว้ และประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เมื่อมีระบบลงทะเบียนและการดูแลผู้ป่วย โรคไตเรื้อรังอย่างเข้มงวดและครอบคลุมแบบองค์รวม